เครื่องหมายการค้า คืออะไร ทำไมถึงต้องมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ถ้ายื่นจดทะเบียนแล้วจะมีผลดีกับธุรกิจอย่างไร คำถามเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่กำลังเริ่มคิดจะทำธุรกิจ
เครื่องหมายการค้า (TRADEMARK) เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง หมายถึง เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ หรือตราที่ใช้กับสินค้าหรือบริการ เพื่อแสดงว่าสินค้าหรือบริการที่ใช้กับเครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างกับสินค้าหรือบริการที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น
เครื่องหมายการค้าจึงมีบทบาทสำคัญในกลยุทธ์การสร้างแบรนด์และการตลาด โดยมีส่วนทำให้ผู้บริโภคจดจำภาพลักษณ์และผลิตภัณฑ์ของบริษัท ตลอดจนสร้างความไว้วางใจและความภักดีของลูกค้า ตลอดจนสร้างเสริม ความนิยมที่มีต่อบริษัทด้วย เนื่องจากผู้บริโภคมักสร้างและพัฒนาความผูกพันกับเครื่องหมายการค้าบางอย่าง นอกจากนี้เครื่องหมายการค้ายังเป็นแรงจูงใจให้บริษัทลงทุนในการรักษาคุณภาพของสินค้าหรือบริการเพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องหมายการค้ามีชื่อเสียงในทางบวกอย่างยั่งยืน
คุณค่าของเครื่องหมายการค้า
เครื่องหมายการค้าที่ผ่านการคัดเลือกมาอย่างดีและได้รับการดูแลถือเป็นทรัพย์สินทางธุรกิจที่มีค่า และสำหรับบางบริษัท อาทิ Coca-Cola หรือ IBM อาจเป็นทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดเลยทีเดียว เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเครื่องหมายการค้า ชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และยินดีจ่ายเพิ่มสำหรับสินค้าหรือบริการที่มีเครื่องหมายการค้าที่ตนรู้จักและตรงตามความคาดหวัง ดังนั้น การเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่มีภาพลักษณ์และชื่อเสียงที่ดีจึงช่วยสร้าง ความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับบริษัทได้
ด้วยเหตุผลข้างต้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงตระหนักถึงความสำคัญของการจดทะเบียนและใช้เครื่องหมายการค้าในการสร้างความแตกต่างให้แก่สินค้าหรือบริการ ทำให้ตนมีสิทธิที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นแต่เพียงผู้เดียวตามที่ได้จดทะเบียนไว้ ทั้งนี้ เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนอาจทำสัญญาอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้าของตนได้ เพื่อเป็นแหล่งรายได้เพิ่มเติม โดยอาจทำในรูปข้อตกลงแฟรนไชส์ อีกทั้งเครื่องหมายการค้ายังเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่นำมาใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้ด้วย
นอกจากนี้ เครื่องหมายการค้ายังเป็นเครื่องมือสำคัญในการค้าระหว่างประเทศ เจ้าของเครื่องหมายการค้าจึงจำเป็นต้องจดทะเบียนขอรับความคุ้มครองสิทธิในประเทศต่าง ๆ ก่อนส่งออกสินค้าไปจำหน่าย เพื่อป้องกันปัญหา การละเมิดเครื่องหมายการค้า หรือมิให้ผู้ประกอบการรายอื่นนำเครื่องหมายการค้าไปจดทะเบียนในต่างประเทศโดยไม่ใช่เจ้าของแท้จริง โดยปัจจุบัน ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีพิธีสารกรุงมาดริด (Madrid Protocol) ตั้งแต่ปี 2560 ทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อรับความคุ้มครองในประเทศต่าง ๆ โดยยื่นคำขอจดทะเบียนต่อสำนักงานเดียวในครั้งเดียว ด้วยภาษาเดียว (อังกฤษ ฝรั่งเศส หรือสเปน) รวมทั้งเสีย ค่าธรรมเนียมเพียงครั้งเดียว
ปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้บริการแนะนำแนวทางการจดทะเบียนในประเทศไทย และขยายการคุ้มครองไปต่างประเทศภายใต้พิธีสารกรุงมาดริด (Madrid Protocol) ที่ครอบคลุมเครือข่ายใน 126 ประเทศ ครอบคลุมการค้าคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 80% ของการค้าทั่วโลก (ข้อมูล ณ เดือน กุมภาพันธ์ 2564 จาก องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก)
นอกจากนี้ เครื่องหมายทางการค้ายังหนึ่งในทรัพย์สินทางปัญญาที่อยู่ภายใต้ขอบเขตของความตกลงว่าด้วยสิทธิในทางทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับการค้า (Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights หรือความตกลง TRIPS) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) และเป็นความตกลงระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกําหนดกฏเกณฑ์ระหว่างประเทศสําหรับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยกําหนดระดับของการคุ้มครองขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลของประเทศสมาชิก WTO จะต้องให้ความคุ้มครองต่อทรัพย์สินทางปัญญา โดยคํานึงถึงความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ที่จะเกิดกับสังคมทั้งในระยะยาวและระยะสั้น รวมถึงระบุหลักการสําคัญว่าการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาควรจะสนับสนุน การสร้างนวัตกรรม และการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์กับทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้รวมถึงเศรษฐกิจและสังคมด้วย
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว สามารถคุ้มครองชื่อ ตรา สัญลักษณ์ โลโก้ รูปภาพ รูปถ่าย และแบบต่างๆ และช่วยให้เจ้าของเครื่องหมายสามารถสร้างความโดดเด่นและแตกต่างให้กับสินค้าหรือบริการของตน เครื่องหมายช่วยให้กลุ่มลูกค้าเข้าใจได้ถูกต้องว่าสินค้าหรือบริการนั้นมาจากแหล่งไหน มีคุณภาพและเชื่อถือได้หรือไม่ ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้จัดการผลิตภัณฑ์ เจ้าของธุรกิจ นักออกแบบกราฟฟิก ฝ่ายขายหรือฝ่ายการตลาด การปกป้องเครื่องหมายสามารถทำให้คุณดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นใจและสร้างการรับรู้ให้กับกลุ่มลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“เครื่องหมาย” สามารถอยู่ในรูปแบบของคำ แบบ 2-D และ 3-D คำสโลแกน เสียง หรือสัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง รวมไปถึงบรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
เครื่องหมายแบ่งกลุ่มได้เป็น 4 ลักษณะ
1.เครื่องหมายการค้า เป็นเครื่องหมายที่บ่งชี้ถึงผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น NIKE RED BULL หรือ Coca-Cola
2.เครื่องหมายการบริการ เป็นเครื่องหมายที่บ่งชี้ถึงธุรกิจบริการ ตัวอย่างเช่น FedEx Hilton และ Kasikorn Bank
3.เครื่องหมายรับรอง เป็นเครื่องหมายที่ได้รับการตรารับรองว่ามีลักษณะจำเพาะที่เข้าเกณฑ์มาตรฐาน ตัวอย่างเช่น ตรามาตรฐานของ Halal ISO หรือ FDA เป็นต้น
4.เครื่องหมายร่วม เป็นเครื่องหมายที่นำมาใช้เพื่อบ่งบอกการรวมกลุ่มกันของธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น Siam Cement Group (SCG) หรือ กลุ่ม Charoen Pokphand (CP)
เครื่องหมายเป็นทรัพย์สินทางปัญญาชนิดหนึ่งที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงมาก เนื่องจากแบรนด์ดังอาจมีมูลค่าหลายร้อยล้านดอลล่า ถึงแม้เมื่อเทียบกับสินค้าที่ไม่มีแบรนด์ (no-brand) แล้วอาจจะไม่ได้มีอะไรที่พิเศษกว่าหรือประกอบด้วยวัตถุดิบหรือสิ่งที่มีมูลค่าที่สูงกว่าแต่อย่างใดเลย
เครื่องหมายที่สามารถยื่นจดได้นั้นต้องมีลักษณะอย่างไร?
ก่อนการยื่นจดเครื่องหมายการค้า คุณต้องทำการสืบค้นให้แน่ใจก่อนว่าเครื่องหมายของคุณนั้นไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว นอกเหนือจากนี้ เครื่องหมายที่สามารถยื่นจดทะเบียนได้นั้นต้องมีลักษณะดังนี้
-มีความบ่งเฉพาะสูง โดดเด่นและแปลกตาเพียงพอที่จะทำให้ลูกค้าสามารถแยกแยะว่าเป็นสินค้าจากผู้ผลิตรายใดรายหนึ่ง ความบ่งเฉพาะเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างเครื่องหมายที่โดดเด่น บ่อยครั้งก็จะประกอบด้วยคำประดิษฐ์ ซึ่งเป็นคำที่ไม่มีความหมายและมีเสียงที่ไม่เหมือนใคร ตัวอย่างเช่น โพลารอยด์ กูเกิ้ล หรือเอ๊กซอน เครื่องหมายที่บ่งชี้ถึงคุณลักษณะหรือบรรยายถึงตัวสินค้าหรือบริการโดยตรงจะไม่เหมาะสมสำหรับการยื่นจดเครื่องหมายการค้า ชื่อบุคคลหรือชื่อสกุลที่มีความบ่งเฉพาะสูง เป็นชื่อหายาก ก็สามารถนำมายื่นจดทะเบียนการค้าได้ ตัวอย่างเช่น Pierre Cardin
-เป็นเครื่องหมายที่ถูกใช้เป็นเวลายาวนานและได้รับการยอมรับจากผู้ใช้โดยทั่วไป (Secondary Meaning Rule) หากเป็นเครื่องหมายที่ถูกนำมาใช้ในการให้บริการหรือขายสินค้ามาเป็นเวลายาวนาน ผู้ยื่นจดทะเบียนจำเป็นต้องแนบหลักฐานการใช้เครื่องหมายดังกล่าวในการทำการตลาด เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าเครื่องหมายนี้ได้รับการยอมรับในกลุ่มลูกค้าแล้ว
-ต้องไม่มีลักษณะที่ต้องห้าม ตามมาตรา 8 แห่งกฏหมายเครื่องหมายการค้าไทย เครื่องหมายราชการ หรือลายธงชาติหรือสัญญลักษณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้องกับศาสนาไม่สามารถนำมายื่นจดขึ้นทะเบียนการค้าได้
ข้อแตกต่างระหว่าง “เครื่องหมายการค้า” และ “ลิขสิทธิ์”
เวลาพูดถึงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา คนส่วนใหญ่ใช้คำว่า “เครื่องหมายการค้า” และ “ลิขสิทธิ์” สลับกันไปมาจนบางทีอาจจะเกิดความสับสนในการสื่อสารได้ แต่จริงๆแล้วทั้ง “เครื่องหมายการค้า” และ “ลิขสิทธิ์” ต่างก็คุ้มครองคนละส่วนหรือองค์ประกอบของ “งานสร้างสรรค์” เครื่องหมายการค้ามีไว้เพื่อบ่งชี้หรือแยกแยะสินค้าและบริการที่มีอยู่ในท้องตลาด แต่ลิขสิทธิ์คุ้มครองงานสร้างสรรค์เกือบทั้งหมด ยกเว้น ชื่อสินค้า ชื่อบริการ คำโฆษณาหรือสโลแกนที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งเครื่องหมายการค้านั้นมีไว้เพื่อปกป้องโดยเฉพาะ
สำหรับนักเขียน ศิลปิน นักถ่ายรูป นักดนตรี โปรแกรมเมอร์ และผู้สร้างสรรค์คนอื่นๆแล้ว ลิขสิทธิ์มีไว้เพื่อให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวเพื่อกระทำการใดๆในสิ่งที่พวกเค้าได้สร้างสรรค์ขึ้นมา แต่ที่ควรเข้าใจคือ “การแสดงออกของความคิด” เท่านั้น ไม่ใช่ “ไอเดียที่ถูกแสดงออกมา” ที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ เช่น ถ้า Stephen Hawking นักฟิสิกส์ทฤษฎีและนักจักรวาลวิทยาได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับทฤษฎีสรรพสิ่งที่เขาเองได้วิจัยศึกษาและรวบรวมทฤษฎีต่างๆเข้าด้วยกัน ซึ่งตามกฎมายลิขสิทธิ์แล้ว นักวิทยาศาสตร์หรือนักฟิสิกส์คนอื่นๆก็สามารถใช้ไอเดียจากหนังสือของ Hawking เพื่อนำมาใส่ในหนังสือของตัวเอง แต่คนที่นำไอเดียไปใช้จะต้องเขียนจากมุมมองของตัวเองหรือมีการดัดแปลงคำพูดของตัวเอง (แต่ควรให้ credit แก่ผู้ประพันธ์และแหล่งที่มาของงานลิขสิทธิ์ด้วย) ไม่ควรก๊อปปี้เนื้อหาและนำมาแปะไว้โดยไม่ได้ทำการดัดแปลงใดๆเลย
งานสร้างสรรค์สามารถได้รับการคุ้มครองด้วยลิขสิทธิ์ทันทีเมื่อมีการทำให้เป็นรูปธรรม หรืออยู่ในรูปแบบที่จับต้องได้ เช่น บนกระดาษ แผ่นเทป CD หรือบนผ้าใบ และผู้สร้างสรรค์สามารถลงชื่อ ติดสัญลักษณ์ © และลงวันที่ที่งานนั้นได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา ผู้สร้างสรรค์ยังสามารถจดแจ้งลิขสิทธิ์ดังกล่าวกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อแสดงไว้เป็นหลักฐานประกอบทางกฎหมายอย่างหนึ่ง เช่น เมื่อมีการอนุญาติให้ผู้อื่นใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ของตน หรือ เพื่อพิสูจน์ความเป็นเจ้าของในคดีละเมิดลิขสิทธิ์เป็นต้น แต่ไม่ว่าจะเป็นการจดแจ้งหรือไม่ได้จดแจ้งลิขสิทธิ์ อายุของลิขสิทธิ์ โดยส่วนใหญ่ คือช่วงชีวิตของผู้สร้างสรรค์ + 50 ปี นับแต่วันที่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต หรือ ถ้าเป็นกรณีของนิติบุคคล คือ 50 ปี นับแต่วันที่งานนั้นได้ถูกสร้างสรรค์หรือประกาศโฆษณา
ลิขสิทธิ์คุ้มครองงานสร้างสรรค์ในรูปแบบหลายๆอย่าง เช่น แผ่นโฆษณา แคตตาล็อค หนังสืออ่าน บทสัมภาษณ์ การบรรยาย หนังสือพิมพ์ แม็คกาซีน การแสดง โชว์บนเวที บทเพลง เพลง ศิลปะ กราฟิค หนัง สิ่งแพร่เสียงแพร่ภาพ รูปปั้น วีดีโอ เว็บไซต์ ซอฟแวร์ แบบสถาปัตยกรรม นาฎยประดิษฐ์ รูปถ่าย ฯลฯ
กฎหมายลิขสิทธิ์และกฎหมายเครื่องหมายการค้านั้น มาบรรจบกันเมื่อใช้เป็นเครื่องมือในการคุ้มครองโลโก้ แพ็คเกจจิ้ง เว๊บไซต์ และแผ่นโฆษณาของคุณ เพราะกฎหมายเครื่องหมายการค้ามีไว้เพื่อคุ้มครองชื่อของสินค้าหรือบริการ รวมถึงคำโฆษณาที่มีเอกลักษณ์หรือความบ่งเฉพาะที่ใช้บนสื่อโฆษณาและเว็บไซต์ และรูปลักษณ์หรือกราฟฟิคต่างๆที่ประกอบกับชื่อแบรนด์หรือโลโก้ ส่วนกฎหมายลิขสิทธิ์สามารถนำมาใช้เพื่อคุ้มครองการแสดงออกของความคิดที่ใช้บนสื่อโฆษณาและบนเว็บไซต์ ซึ่งรวมไปถึงเนื้อหา อาร์ตเวิร์ก กราฟิค เพลง ซอฟแวร์ ฯลฯ